การจำแนกพันธุ์อ้อย



ลักษณะที่ใช้ในการจำแนกพันธุ์อ้อย
มาตรฐานที่ใช้จำแนกลักษณะภายนอกของอ้อย
ก่อนที่จะกล่าวถึงลักษณะต่าง ๆ จำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานที่ใช้ในการศึกษาลักษณะ ภายนอกเสียก่อน มาตรฐานที่กล่าวต่อไปนี้เป็นมาตรฐานสากลที่ใช้กันทั่วไป การกำหนดมาตรฐานเป็นสิ่งจำเป็นทั้งนี้เพราะว่าลักษณะบางอย่างเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมและอายุ เช่น สีของลำต้นในพันธุ์เดียวกัน กอที่อยู่ริมไร่อาจแตกต่างจากกอที่อยู่กลางไร่ หรือแม้แต่ในกอเดียวกัน สีของลำต้นที่แก่ ก็อาจแตกต่างจากลำต้นที่อ่อน หรือในที่สุดแม้กระทั่งในลำต้นเดียวกันสีส่วนที่ไม่กาบหุ้มก็อาจแตกต่างจากส่วนที่มีกาบหุ้มดังนี้เป็นต้น นอกจากสีของลำต้นแล้วลักษณะอื่น ๆ เช่น ตาแต่ละตาก็อาจแตกต่างกันตั้งแต่โคน จนถึงยอด ทั้งนี้เพราะอายุต่างกันนั่นเอง ตาที่อยู่ต่ำกว่ามีอายุมากกว่า ส่วนตาที่อยู่เหนือขึ้นไปจะมีอายุลดหลั่นตามลำดับ และในระหว่างตาแก่ที่สุดซึ่งอยู่ส่วนโคนและอ่อนที่สุดซึ่งอยู่ส่วนยอดนั้น ก็จะมีตาที่เหมาะสมสำหรับใช้ดูลักษณะของตาอยู่เพียง 2 หรือ 3 ตา เท่านั้น นอกจากนี้ขนาดของหูใบและลิ้นใบก็อาจแตกต่างกันในใบที่แก่หรืออ่อนเกินไป ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานเสียก่อน เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน มาตรฐานดังกล่าว มีดังนี้ (เกษม และคณะ. 2520)
  1. อายุของอ้อย อายุที่เหมาะสำหรับใช้จำแนกพันธุ์ คือระหว่าง 8-10 เดือน เพราะเป็นระยะที่อ้อยเติบโตทางด้านลำต้นและใบเต็มที่แล้ว
  2. สีของลำต้น ส่วนของลำต้นที่แก่และไม่มีอะไรปกปิดอยู่กลางไร่ ไม่ถูกลมและ แสงแดดโดยตรง
  3. ตา ตาที่ดีที่สุด คือตาที่อยู่สูงสุดซึ่งมีกาบแห้งหุ้มอยู่
  4. ข้อและปล้อง ส่วนกลางของลำต้นก็ใช้ได้แต่นิยมใช้ปล้องที่อยู่ส่วนปลาย ซึ่งกาบแห้งหุ้มอยู่
  5. รอยแตกต่าง ๆ ของร่องตา ดูจากปล้องสูงสุดที่มีกาบแห้งหุ้มอยู่ หรือปล้องที่อยู่ถัดลงมา
  6. ลักษณะใบ ขนาดวัดจากใบที่เติบโตเต็มที่ เช่น ใบที่ 2-4 โดยนับใบสูงสุดที่เห็น ดิวแล็ปเป็นใบที่ 1 ส่วนลิ้นใบ หูใบ และดิวแล็ป ดูจากใบที่ 3
อย่างไรก็ดีแม้จะได้ใช้มาตรฐานเดียวกัน แต่ลักษณะที่ได้จากแต่ละตัวอย่างก็อาจจะแตกต่างกันไป ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดูจากหลาย ๆ ตัวอย่าง ลักษณะรูปร่างอย่างใดมีมากกว่าก็ให้ถือลักษณะรูปร่างนั้นเป็นเกณฑ์
นอกจากรู้จักส่วนที่จะนำมาศึกษาลักษณะต่าง ๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว ก็จำเป็นต้องพิจารณาลักษณะอื่น ๆ ประกอบกันด้วย คือ
  1. พันธุ์ที่เป็นพ่อ การทราบพ่อแม่จะช่วยทำให้การศึกษาลักษณะพันธุ์กระทำได้ถูกต้องแม่นยำและรวดเร็วยิ่งขึ้น
  2. ลักษณะการเจริญเติบโต ลักษณะโดยทั่ว ๆ ไปของอ้อยขณะที่เติบโตอยู่ในไร่นับว่าช่วยในการจำแนกพันธุ์ได้เป็นอย่างดี อ้อยบางพันธุ์อาจมีลักษณะเฉพาะซึ่งเราอาจจะบอกว่าเป็นพันธุ์ใดได้ โดยไม่ต้องดูอย่างใกล้ชิด ลักษณะดังกล่าว ได้แก่ ทรงกอ ทรงใบ และธรรมชาติของแต่ละใบ เป็นต้น
ความจำเป็นที่จะต้องรู้จักพันธุ์อ้อย
พันธุ์อ้อยที่มีอยู่ในประเทศไทยขณะนี้มีมากกว่า 200 พันธุ์ ในจำนวนนี้มีประมาณ 20 พันธุ์ เท่านั้นที่ปลูกเป็นการค้าอยู่ในภาคต่าง ๆ ของประเทศ จากการที่มีพันธุ์เป็นจำนวนมากนี้เอง ทำให้เกิดการสับสนในเรื่องพันธุ์ขึ้น มีชาวไร่จำนวนไม่น้อยที่ปลูกอ้อยโดยไม่ทราบว่าเป็นพันธุ์อะไร เพราะบางพันธุ์มีลักษณะคล้ายคลึงกัน บางรายก็ไม่แน่ใจว่าพันธุ์ที่ตนปลูกนั้นเป็นพันธุ์แท้ตรงตามชื่อ ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องหาข้อยุติ โดยการสอบถามผู้รู้ ซึ่งบางครั้งก็หาได้ไม่ง่ายนัก
การรู้จักพันธุ์อ้อยนอกจากจะเป็นประโยชน์ในด้านการศึกษาพันธุ์แล้ว ยังเป็นประโยชน์ในด้านการผลิตอีกด้วย เป็นที่ทราบกันดีว่าอ้อยแต่ละพันธุ์ต้องการสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแตกต่างกัน และต้องการดูแลรักษาแตกต่างกันด้วย ดังตัวอย่าง เช่น พันธุ์ เค.76-4 เจริญเติบโตและให้ผลผลิตสูงในที่ลุ่ม ซึ่งมีการชลประทานดี ส่วนพันธุ์ ซีโอ.1148 เติบโตได้ดีกว่าในที่ดอน ซึ่งอาศัยน้ำฝนดังนี้ เป็นต้น นอกจากนี้อ้อยแต่ละพันธุ์ยังมีความแตกต่างกันในด้านอื่น ๆ อีก เช่น อายุเก็บเกี่ยว น้ำหนัก ความหวาน ความทนทานต่อโรคและแมลง ตลอดจนการสูญเสียน้ำหนัก และความหวานภายหลังตัด เป็นต้น
ดังนั้น การรู้จักพันธุ์อ้อยนับว่าเป็นสิ่งจำเป็น อย่างน้อยที่สุดก็ช่วยให้ชาวไร่แน่ใจว่าอ้อยที่ปลูกนั้นเป็นพันธุ์ที่ต้องการ และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของตน ซึ่งจะทำให้สามารถปฏิบัติการต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันก็จะมีผลทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อไร่เพิ่มขึ้นด้วย
ในการศึกษาพันธุ์ครั้งนี้ คณะผู้เขียนมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ชาวไร่ได้รู้จักพันธุ์อ้อยของตนเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงได้พยายามเน้นเฉพาะลักษณะที่เห็นได้ง่าย และเด่นชัด แต่ก็ได้รวมเอาลักษณะที่สังเกตได้ยาก เช่น กลุ่มขนที่อยู่บนส่วนต่าง ๆ ไว้ด้วย เพื่อให้ผู้ที่มีความสนใจเป็นพิเศษได้ใช้เป็นแนวทางสำหรับศึกษาพันธุ์อ้อยต่อไป
นอกจากลักษณะทางพฤกษศาสตร์ซึ่งเป็นสาระสำคัญในหนังสือเล่มนี้แล้ว คณะผู้เขียน ยังได้รวบรวมลักษณะบางอย่างทางเกษตรที่เห็นว่าจำเป็นไว้ด้วย เพื่อให้ชาวไร่ใช้ประโยชน์การตัดสินใจเลือกพันธุ์อ้อยสำหรับปลูกอย่างไรก็ดีลักษณะทางเกษตรมีการเปลี่นแปลงได้ง่ายทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ สภาพแวดล้อม และการปฏิบัติของชาวไร่เป็นสำคัญ ตัวอย่าง เช่น
ผลผลิตอ้อย เค.88-92 ในหนังสือนี้กล่าวว่าให้ผลผลิตสูง (มากกว่า 15 ตัน/ไร่) แต่ถ้า ชาวไร่มีการปฏิบัติอย่างเหมาะสมอาจให้ผลผลิตสูงกว่านี้ในทำนองเดียวกันถ้าปฏิบัติไม่ถูกก็ทำให้ได้ ผลผลิตต่ำกว่า 15 ตัน/ไร่ เป็นต้น อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การออกดอก อ้อยบางพันธุ์อาจไม่เคยออกดอก มาก่อน จนกระทั่งถึงเวลาที่ศึกษา แต่อาจออกดอกในระยะต่อมาดังนั้น เป็นต้น ส่วนลักษณะทาง พฤกษศาสตร์นั้น อาจมีการเปลี่ยนแปลงบ้างแต่น้อยมาก เมื่อเทียบกับลักษณะทางเกษตร ดังนั้นจึงเชื่อถือได้มากกว่า

ลักษณะภายนอกของอ้อย
ในการจำแนกพันธุ์อ้อยสิ่งจำเป็นที่จะต้องทราบก่อนก็คือส่วนต่าง ๆ ของอ้อยและศัพท์ทางวิชาการที่ใช้เรียกชื่อส่วนต่าง ๆ เหล่านั้น ความจริงนักพฤกษศาสตร์ทางอ้อยได้ศึกษาไว้โดยละเอียด แต่ลักษณะบางอย่างก็ไม่สะดวกที่จะใช้ศึกษาในไร่โดยชาวไร่ ดังนั้น ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะลักษณะสำคัญที่ใช้ในการจำแนกพันธุ์เท่านั้น ลักษณะบางอย่างสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและรู้สึกได้ด้วยการสัมผัส แต่บางอย่าง เช่น ขนที่อยู่บนส่วนต่าง ๆ ของใบและตา อาจจำเป็นต้องใช้แว่นขยายเข้าช่วย ลักษณะเหล่านี้ ได้แก่
1.  ลำต้น   ประกอบด้วยข้อและปล้องเป็นจำนวนมากเรียงติดต่อกัน ข้อ หมายถึง ส่วนที่อยู่ระหว่างรอยกาบถึงวงเจริญ ปล้อง คือ ส่วนตั้งแต่วงเจริญถึงรอยกาบที่อยู่เหนือขึ้นไป โดยทั่วไปมักเรียก สั้น ๆ ว่าปล้อง หมายถึง ความยาวจากรอยกาบหนึ่งถึงรอยกาบอีกอันหนึ่ง หรือกล่าวคืออย่างหนึ่งคือส่วนที่มีหนึ่งข้อกับหนึ่งปล้อง ลำต้นประกอบด้วยหลายปล้อง ซึ่งมีความยาวต่างกัน ตอนโคนสั้นมากและค่อย ๆ ยาวขึ้นจนถึงยาวที่สุด และลดลงเมื่อใกล้ยอด ความยาวของปล้องขึ้นอยู่กับพันธุ์และสิ่งแวดล้อม ปล้องมี รูปร่างแตกต่างกันตามพันธุ์ เช่น ทรงกระบอก มัดข้าวต้ม โคนโป่ง ปลายโป่งและโค้ง รายละเอียดส่วน ต่าง ๆ ของข้อและปล้องตลอดจนลักษณะรูปร่างได้แสดงไว้ในรูปที่ 1 และ 2 การจัดเรียงของปล้องอาจเป็นเส้นตรง หรือซิกแซ็กก็ได้ ดังรูปที่ 3 ลำต้นประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้
1.1  ตา เกิดที่ข้อในบริเวณเกิดราก ปกติแต่ละข้อมีหนึ่งตาเกิดสลับกัน ในบางกรณีบางข้ออาจไม่มีตาหรือมีมากกว่าหนึ่งตาก็ได้ สี ขนาด และลักษณะของตา แตกต่างกันไปตามพันธุ์ ซึ่งจะกล่าวโดยละเอียดต่อไป
1.2  วงเจริญ หรือวงแหวน คือส่วนที่มีลักษณะคล้ายวงแหวนเรียบอยู่เหนือบริเวณเกิดราก ไม่มีไขเกาะ การที่เรียกวงเจริญก็เพราะว่าส่วนนี้จะเจริญเติบโตอย่างเห็นได้ชัด เช่น อ้อยล้ม ส่วนของวงเจริญด้านล่างจะยืดตัวมากกว่าด้านบน ทำให้ลำต้นตั้งขึ้น วงเจริญส่วนที่อยู่ตรงกับตาอาจโค้งขึ้นเหนือตา หรือผ่านไปทางด้านหลังของตาก็ได้ ดังรูปที่ 9
1.3  รอยกาบ เป็นรอยที่เกิดขึ้นหลังจากใบหลุดแล้ว การหลุดของกาบใบเป็นลักษณะประจำพันธุ์ บางพันธุ์กาบใบแห้งจะหลุดเอง บางพันธุ์ติดแน่นอยู่กับ ลำต้น ลักษณะต่าง ๆ ของรอยกาบ เช่น ความลาดเท และความยื่นของรอยกาบเป็นลักษณะประจำพันธุ์
1.4  ร่องตา เป็นร่องเกิดขึ้นที่ปล้องซึ่งอยู่ตรงและเหนือตาขึ้นไป บางพันธุ์อาจไม่มี พันธุ์ที่มีร่องนี้ อาจยาวหรือสั้น ตื้นหรือลึก ซึ่งเป็นลักษณะประจำพันธุ์
2.  ตา  เป็นส่วนที่มีความสำคัญมากในการจำแนกพันธุ์ บางพันธุ์ตามีลักษณะแตกต่างจากพันธุ์อื่นอย่างเห็นได้ชัด ส่วนต่าง ๆของตาดูได้จากรูปที่ 4 ส่วนรูปของตาได้แสดงไว้ในรูปที่ 5 ลักษณะที่ควรสังเกตจากตามีดังนี้
2.1  ขนาด รูปร่าง และตำแหน่ง แตกต่างกันตามพันธุ์ บางพันธุ์มีตาขนาดใหญ่ บางพันธุ์มีตาขนาดเล็ก บางพันธุ์ตาโปนออกมา แต่บางพันธุ์ตาแบนมาก นอกจากนี้รูปร่างก็แตกต่างกัน ตั้งแต่ค่อนข้างกลมจนถึงคล้ายสามเหลี่ยม ส่วนตำแหน่งของตาคือระยะระหว่างรอยกาบกับฐานตาก็ แตกต่างกัน บางพันธุ์ตาอยู่ชิดหรือสอดเข้าไปในรอยกาบ แต่บางพันธุ์อยู่สูงขึ้นมา จนเกิดช่องว่างระหว่างฐานตากับรอยกาบ ลักษณะเหล่านี้จะต้องสังเกตให้ดี
2.2  กลุ่มขน นักพฤกษศาสตร์ใช้หมายเลขแทนชื่อกลุ่มขนที่อยู่บนส่วนต่าง ๆ ของอ้อย กลุ่มขนที่ตาได้แสดงไว้ในรูปที่ 11 จำนวน ความยาว ความแข็ง และสี ของขนเป็นลักษณะประจำพันธุ์
3.  ใบ
3.1  หูใบ คือส่วนยื่นที่เกิดขึ้นตรงส่วนปลายของกาบใบ ขนาดและรูปร่าง แตกต่างกันไปตามพันธุ์ หูใบอาจมีทั้งสองข้าง ข้างเดียว ยาวหรือสั้น หรือไม่มีเลยก็ได้ ในกรณีที่ข้างเดียวจะอยู่ด้านในเสมอ
3.2  ลิ้นใบ คือส่วนยื่นที่เกิดขึ้นตรงส่วนปลายของกาบใบตรงคอใบด้านใน มีลักษณะคล้ายลิ้น จึงเรียกว่าลิ้นใบ รูปร่างลักษณะของลิ้นใบแตกต่างกันตามพันธุ์
3.3  กลุ่มขนหลังกาบใบ ความยาวปริมาณและความแข็งของขนที่เกิดขึ้นบนส่วนต่าง ๆ ของกาบใบเป็นลักษณะประจำพันธุ์ แต่จะต้องสังเกตต่อไปว่าขนดังกล่าวร่วงหรือไม่ เพราะบางพันธุ์มีขนในขณะที่ใบอ่อน พอใบแก่ขนร่วงหลุดไปเอง
3.4  ดิวแล็ป ที่คอใบด้านนอกซึ่งมีลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยมสองรูปพบกันที่ฐานของแกนใบ “ดิวแล็ป” ส่วนนี้ยืดหยุ่นได้ ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ใบเนื่องจากลม บางพันธุ์ดิวแล็ปเปราะฉีกขาดได้ง่าย เช่น พันธุ์ เอฟ.148 เป็นต้น ขนาด รูปร่าง และสี ตลอดจนปริมาณไขที่เกาะแตกต่างกันไปตามพันธุ์

พันธุ์อ้อยแนะนำจากหน่วยงานต่าง ๆ
พันธุ์จากต่างประเทศ คือ
  1. จากไต้หวัน ซึ่งขึ้นต้นด้วยอักษร เอฟ. (F) ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็น อาร์โอซี. (ROC-Taiwan Republic of Chian) มี พันธุ์ เอฟ.140, เอฟ.154, เอฟ.156, อาร์โอซี.1, อาร์โอซี.10
  2. จาก ฟิลิปปินส์ (ฟิล-Phill) มีพันธุ์ ฟิล. 58-260, ฟิล.63-17, ฟิล.66-07 (มาร์กอส-Marcos) และ ฟิล. 67-23
  3. จากออสเตรเลีย จากรัฐควีนส์แลนด์ (Queensland) มี คิว.83, คิว.130 และจากเอกชน ซีเอสอาร์ .(CSR-Colonial Sugar Refining Co.) คือไตรตัน (Triton)
  4. จากอินเดีย ซีโอ. (CO - Coimbatore) มีพันธุ์ ซีโอ.419, ซีโอ.1148, ซีโอ.62-175
  5. จากฮาวาย เอช. (H-Hawaii) H.483166 H.47-4911 (เอฟ.ใบลาย)
พันธุ์อ้อยที่เกิดในประเทศไทย โดย นักวิชาการชาวไทย คือ
  1. พันธ์จากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) โดยศูนย์เกษตรอ้อยภาคกลาง ตั้งอยู่ที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ใช้ชื่อย่อว่า เค.(K) พันธุ์ เค. ทั้งหลาย ได้แก่ เค.76-4, เค.84-69, เค.84-200, เค.86-161, เค.88-87 , เค.88-92 และ เค.92-102
  2. พันธุ์อู่ทอง จากสถาบันวิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี ตั้งอยู่ที่อำเภออู่ทอง มีพันธุ์อู่ทอง 1 และอู่ทอง 2 และอู่ทองแดง (80-1-128)
  3. พันธุ์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน (กพส.-Kps) ได้แก่ พันธุ์ ม.ก.50, พันธุ์ กพส.85-2 (85-11-2), กพส.89-20 และ กพส.89-26
ในจำนวนนี้พันธุ์ที่ปลูกมากที่สุด คือ เค.84-200 ซึ่งปลูกในภาคกลางและภาคเหนือ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 และกำลังขยายไปในภาคอื่น ๆ การปลูกอ้อยพันธุ์เดียวเกินกว่าร้อยละ 30 นับว่าเสี่ยงมากเพราะถ้าอ้อยพันธุ์นี้เกิดโรคระบาดรุนแรงก็จะเสียหายมากเช่นเดียวกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งปลูกพันธุ์มาร์กอสมากกว่า 40% ขณะนี้อ้อยตอของพันธุ์มาร์กอสกำลังเป็นโรคมาก โดยเฉพาะอ้อยตอ หลังจากไถรื้อตอแล้วชาวไร่ควรหาอ้อยพันธุ์ใหม่มาปลูกทดแทน

ขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์อ้อย
ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เขต 2 สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย มีหน้าที่ทำการทดลองค้นคว้าหาพันธุ์อ้อยที่ให้ผลผลิตสูงและคุณภาพดี โดยการผสมพันธุ์หรือการชักนำให้กลายพันธุ์ และนำพันธุ์อ้อยพันธุ์ดีจากต่างประเทศมาทดลองเปรียบเทียบคัดเลือกพันธุ์ เพื่อทดสอบหรือคัดเลือกพันธุ์อ้อยที่ให้ผลผลิตสูง คุณภาพน้ำตาลดี ต้านทานต่อโรคและแมลง ทนทานต่อสภาพแห้งแล้งหรือน้ำขังและอื่น ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ก็ทำการรวบรวมพันธุ์อ้อยและศึกษาลักษณะต่างๆ ของพันธุ์อ้อยทุกชนิด รวมถึงพันธุ์พืชที่อยู่ในตระกูลเดียวกัน

วัตถุประสงค์
เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติของพันธุ์อ้อยและคัดเลือกพันธุ์ดีที่เหมาะสมในแต่ละท้องถิ่น

ขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์อ้อย แบ่งออกเป็น 4 ขั้น ดังนี้
ขั้นที่ 1 การศึกษาเบื้องต้นและสร้างความแปรแรวนทางพันธุกรรม แบ่งย่อย ได้ดังนี้
1.1  การนำเข้า การรวบรวมและการศึกษาเบื้องต้นของลักษณะที่ต้องการของแหล่งพันธุกรรมของพันธุ์ สายพันธุ์และแหล่งรวมพันธุกรรม (Introduction, collection and observation of genetic resources of Variety, clone and gene pool.)
1.2  การสร้างความแปรแรวนทางพันธุกรรม (Creating genetic variation)
1.2.1  การผสมพันธุ์ (Hybridization)
- การผสมพันธุ์โดยธรรมชาติ (Natural hybridization) เช่น การผสมแบบเปิด (Open pollination) เป็นต้น
- การผสมพันธุ์โอยมีการควบคุม (Controlled or artificial hybridization) เช่น การผสมแบบตัดลำ (Cut cane method) และแบบคลุมช่อดอก (Lantern method) และแบบผสมในที่เฉพาะ (Area cross or isolation area method) เป็นต้น
1.2.2  การกลายพันธุ์ (Mutation)
- การกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ (Natural mutation)
- การกลายพันธุ์โดยการชักนำ (Induced mutation) เช่น การฉายรังสี (Irradiation) การใช้สารเคมี (Chemical treatment) และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Tissue cultural) เป็นต้น
ขั้นที่ 2 การคัดเลือก (Selection) เป็นวิธีการคัดเลือกให้ได้พันธุ์หรือสายพันธุ์ที่ดี โดยแบ่งการคัดเลือกเป็น 2 ช่วง ดังนี้
2.1  การคัดเลือกช่วงที่ 1 เป็นการคัดเลือกสายพันธุ์จากเมล็ดอ้อย โดยถือว่าเมล็ดอ้อย 1 เมล็ด เป็น 1 สายพันธุ์ และคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีเด่นเพียง 2% จากลูกอ้อยผสมทั้งหมด สายพันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับหมายเลขประจำพันธุ์
2.2  การคัดเลือกช่วงที่ 2 เป็นการคัดเลือกสายพันธุ์ให้ได้ดีเด่นจริง ๆ โดยนำสายพันธุ์อ้อยที่ผ่านการคัดเลือกช่วงที่ 1 หรือการนำเข้าหรือรวบรวมพันธุ์ เป็นต้น มาปลูกแถวเดียวยาว 4 เมตร จำนวน 2-3 ซ้ำ โดยปลูกเปรียบเทียบกับพันธุ์มาตรฐาน และคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีเด่นไว้ 5%
ขั้นที่ 3 การประเมินผล (Evaluation) หมายถึงการตรวจสอบลักษณะที่ได้ผ่านการ คัดเลือกตามช่วงดังต่อไปนี้
3.1  การเปรียบเทียบสายพันธุ์เบื้องต้น (Preliminary trial) เป็นการประเมินผลช่วงแรก โดยการนำสายพันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือกช่วงที่ 2 มาปลูกเปรียบเทียบกับพันธุ์มาตรฐาน ขนาดแปลงย่อย 6.5x6 เมตร จำนวน 4 ซ้ำ และคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีเด่นเพียง 50%
3.2  การเปรียบเทียบสายพันธุ์มาตรฐาน (Standard trial) เป็นช่วงต่อจากการเปรียบเทียบสายพันธุ์เบื้องต้น นำสายพันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือกมาปลูกเปรียบเทียบกับพันธุ์มาตรฐาน ขนาดแปลงย่อย 9.1x8 เมตร จำนวน 4 ซ้ำ และอย่างน้อย 4 ท้องที่ (Location) คือทำการทดลอง ตาม สถานีอ้อย, มหาวิทยาลัย และโรงงานน้ำตาลต่าง ๆ เป็นต้น และคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีเด่นเพียง 50%
3.3  การเปรียบเทียบพันธุ์ในไร่กสิกร (Farm trial) เป็นช่วงต่อจากการ เปรียบเทียบสายพันธุ์มาตรฐาน เมื่อได้พันธุ์อ้อยที่ให้ผลดีแล้ว จำนวน 3-5 พันธุ์ นำมาปลูกเปรียบเทียบกับพันธุ์มาตรฐานในสภาพไร่กสิกรตามคำแนะนำของนักวิชาการและมีขนาดแปลงย่อยใหญ่ขึ้นประมาณ 13.0 x 10.0 เมตร จำนวน 4 ซ้ำ ดำเนินงานในแหล่งที่มีการปลูกอ้อย
3.4  การทดสอบพันธุ์ในไร่กสิกร (Field test) เมื่อต้องการที่จะแสดงให้กสิกรเห็นถึงความดีเด่นของพันธุ์ ก็ควรกระทำการทดลองให้เห็นโดยการปลูกเปรียบเทียบกับพันธุ์มาตรฐานหรือพันธุ์ในท้องถิ่นนั้น ๆ ตามวิธีการที่แนะนำของนักวิชาการ
ขั้นที่ 4 การรับรองพันธุ์ (Approval) สำหรับพันธุ์อ้อยที่ผ่านวิธีการปรับปรุงพันธุ์มาแล้ว จะต้องได้รับการพิจารณาเห็นชอบตามขั้นตอน ดังนี้
4.1  การพิจารณารับรองพันธุ์อ้อย ภายในงานเกษตรอ้อยของศูนย์เกษตรอ้อย หรือสถานีอ้อยอื่น ๆ ของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นเบื้องต้น
4.2  การพิจารณารับรองพันธุ์ของคณะกรรมการพิจารณาพันธุ์อ้อย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม
4.3  ผ่านการเห็นชอบของกระทรวงอุตสาหกรรม
4.4  ผ่านการเห็นชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พันธุ์อ้อยที่ผ่านขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์อ้อยทุกขั้นตอนสมบูรณ์แล้วสามารถนำ พันธุ์อ้อยพันธุ์นั้นออกเผยแพร่สู่ชาวไร่กสิกรปลูกต่อไป

รายละเอียดเพิ่มเติมhttp://oldweb.ocsb.go.th/udon/Udon4/p10_smai.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น